ในปีที่ผ่านมาสังคมคนและสัตว์เลี้ยงกำลังเฟื่องฟูขึ้นมาก Pet-Friendly Design เริ่มเข้ามาสู่ธุรกิจและการออกแบบต่างๆ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ และอีกหลายแห่งเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจ
โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว มีอัตราการเกิดน้อยลง หลายครอบครัวก็ตัดสินใจที่จะไม่มีลูก เมื่อรวมปัจจัยที่อายุสัตว์เลี้ยงมีอายุ 10-20 ปี และการตัดสินใจไม่มีลูกไม่สามารถ Undo ได้ เพราะผ่านเวลาไปร่างกายคุณอาจไม่อนุญาตให้ตัดสินใจใหม่ เรื่องของสัตว์เลี้ยงจึงไม่เป็นเพียง Trend แต่เป็นระดับ Mega-Trend ที่จะส่งผลระดับ 20-30 ปีในอนาคต
ถึงอย่างนั้นแล้วอัตราการมีสุนัขในไทยก็ยังห่างจากประเทศสหรัฐอเมริกามาก เคยมีผลสำรวจไว้ว่า “บ้านที่มีสุนัขในสหรัฐ” นั้นมีสัดส่วนสูงถึง 1:2 หรือประมาณได้ว่าทุกบ้าน 3 หลัง จะมี 1 หลังที่เลี้ยงสุนัข เมื่อเทียบแล้วประเทศไทยเองที่เพิ่งเปิดตัวสวนสาธารณะดีๆ สำหรับสุนัขอย่าง BMA DOG PARK สวนวัชราภิรมย์ จัดได้ว่าช่วงนี้เป็นก้าวแรกของไทยที่เข้าสู่ Pet-Friendly Society อย่างเต็มตัว
Pet-First Design
Beyond Pet-Friendly Design
จากเดิมสถานที่ต่างๆ ทั้งโรงแรมและโครงการบ้าน เมื่อทำเป็นโครงการ Pet-Friendly มักมีความหมายเพียง การอนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าได้ หรือสามารถเลี้ยงสัตว์ได้ หรือการตกแต่ง “น่ารัก” ที่ดูแล้วรู้สึกมุ้งมิ้งหัวใจ
แต่สำหรับครอบครัวที่มีสุนัขหรือแมวเป็น “คนในครอบครัว” เช่น สมาชิกหลายบ้านในกลุ่ม Dog Reviews พูดคุยกันลึกในระดับ “พฤติกรรม” (Dog Bahavior) ความน่ารักนั้นไม่ได้สำคัญหรือมีผลกับสัตว์เลี้ยงแต่มีผลกับมนุษย์ ส่วนที่มีผลกับสุนัข กลับเป็นสิ่งอื่นๆ เช่น พื้นกันลื่น วิธีขับถ่ายและจัดการ พื้นที่ออกกำลังที่เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะพูดถึงในวันนี้กัน
เข้าใจความสำคัญของสัตว์เลี้ยง
ทำไมธุรกิจต้องมองกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์
เมื่อกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดของคุณมี 30% เลี้ยงสุนัขเป็นคนในครอบครัว ถ้าหากคุณไม่ปรับตัว แปลว่าลูกค้าของคุณจะหายไป 30% ทันที ยังไม่นับ Mega-Trend ที่โตต่อเนื่อง และยังมีประเด็นของ Blue Ocean
Blue Ocean น่านน้ำใหม่ของธุรกิจ
“ทุกธุรกิจ” โรงแรมหรือคาเฟ่ ถูกออกแบบมาให้มนุษย์เป็นฐานลูกค้า 100% แต่ก็หมายถึง คุณมีคู่แข่งมากมายมหาศาล ขนาดหลับตาเดินในกรุงเทพยังชนร้านกาแฟ
แต่ Pet-Friendly hotel โรงแรมสุนัขเข้าได้นั้นยัง “มีคู่แข่งน้อยมาก”
การปรับปรุงธุรกิจให้รองรับ Pet-Friendly จึงทำคุณได้น่านน้ำใหม่ที่คู่แข่งน้อยมาก (Blue Ocean) ผ่านไป 5-10 ปี อาจกลายเป็น Red Ocean ก็ได้
ส่วนสำคัญคือ ไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องทิ้งตลาดเดิมไป ถ้าหากคุณออกแบบธุรกิจได้อย่างเข้าใจ ก็ยังได้ทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมและกลุ่มใหม่ ไว้ในโพสต์อื่นเราจะพูดถึงการออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับ Pet-Friendly
ก่อนออกแบบต้องเข้าใจ
Pet & Family Behavior
ทุกสถาปัตยกรรมเริ่มต้นมาจากความเข้าใจกลุ่มผู้ใช้งาน การออกแบบ Pet-Friendly และ Pet-First ก็เช่นเดียวกัน สำหรับคำว่า “สัตว์เลี้ยง” อาจมีหลายสายพันธุ์มาก แต่ที่มากที่สุดคือ แมว และ สุนัข
แมวต่างจากสุนัขอย่างไร?
โดยส่วนใหญ่แมวสามารถที่จะอยู่บ้านดูแลตัวเองได้ไม่ต้องพาไปเดินออกกำลังกายทุกวันเหมือนสุนัข ยากต่อการจูงเดิน เพราะเจ้าของมักต้องตามใจแมวมากกว่า สามารถเลี้ยงแมวไว้แต่ในบ้านได้มากกว่าสุนัข น้อยครั้งจะเห็นคนพาแมวมาเที่ยวซึ่งก็อาจต้องอยู่ในกล่องในกระเป๋าเพื่อป้องกันการหลุดหาย ความต้องการใช้ Facilities ต่างๆ ของแมวจึงมีน้อยกว่าสุนัข
ความต้องการของแมวโดยทั่วไป
- ไม่ต้องใช้ที่วิ่งเล่น แค่ได้ออกมาเล่นที่สนามเล็กๆ
- รอบโครงการไม่ควรมีหมาและแมวจร เพราะในอุจาระแมวนั้นอาจมีเชื้อไวรัสเยอะกว่าสุนัขมาก ระดับที่ห้ามคนท้องเก็บอึแมว การที่มีแมวจรในโครงการ อาจทำให้มีเชื้อโรค เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และความปลอดภัย
- แมวชอบปีน ออกแบบพื้นที่ Verticle ให้เขาดีๆ เลี่ยงของตกลงมาแตก
โดยสรุป คนพาแมวออกนอกบ้าน “น้อยกว่า” สุนัขมาก นอกจากข้อด้านบน สิ่งที่เตรียมสำหรับสุนัขก็อาจให้ประโยชน์กับแมวด้วยทั้งหมด
Pet-First ออกแบบเพื่อรองรับสุนัข
1. สุนัขต้องการพื้นที่เดินออกกำลัง
ไม่ขนาดต้องสร้างพื้นที่สำหรับสุนัขเดินโดยเฉพาะ แต่สามารถใช้พื้นที่เดิมของมนุษย์ได้เลย ส่วนที่แตกต่างคือ “สุนัขไม่ใส่รองเท้าเหมือนคน” ดังนั้น ถ้าหากพื้นฟุตบาทเป็นซีเมนต์ที่ร้อนหลังตากแดดบ่าย ควรจะมีการสร้างร่มเงาต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ส่วนนั้นได้ตลอดเวลา
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะหลายโรงแรมพยายามทำสนามให้สุนัข แต่กลับเดินเล่นส่วนอื่นไม่ได้ สำหรับครอบครัวที่พาสุนัขไปเที่ยวรีสอร์ทกับสุนัข เขาอาจอยากไปเที่ยวทะเล เที่ยวภูเขาด้วยกัน แต่ไม่ใช่มาเที่ยวสนามสุนัขเล็กๆ ของโรงแรม ถ้างบรีโนเวทคุณมีจำกัดไม่ต้องทำสำหรับสุนัข แต่เพิ่มร่มเงาให้สุนัขไปกับเจ้าของได้ทุกที่ทั่วทั้งรีสอร์ทจะดีมากกว่า
2. กฏจำเป็นต้องมี ใส่สายจูง+เก็บอึ
สำหรับคนเลี้ยงสุนัขยุคใหม่ สายจูงไม่ได้มีไว้เพื่อพันธนาการหรือกักขัง แต่มีไว้เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมสำหรับสุนัขและเพื่อความปลอดภัยของสุนัขเองด้วย สุนัขที่ไม่จำเป็นต้องปล่อยสายจูง อาจไปขับถ่ายในมุมที่เจ้าของมองไม่เห็น อาจสร้างความเดือดร้อนหรือร้ายแรงที่สุด คือไปทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจได้
ส่วนเรื่องเก็บอึด้วยตัวเองเป็นเรื่องเบสิกอยู่แล้ว แต่ไม่อยากให้ดูถูกลูกค้าคนไทย เพราะโรงแรมแพงแค่ไหนก็ไม่เก็บเยอะเหมือนกัน ขึ้นกฏไว้ก่อนดีกว่า
3. แยกถังขยะถุงเก็บอึที่มุมสุนัขนิยม
การแยกขยะจะช่วยให้สะอาดมากกว่าเดิม ควรมีถังขยะตามสนามคนเดินกับสุนัขน่าจะไปใช้บริการ ถ้าหากเป็นโรงแรม ควรมีในบริเวณชายหาดด้วยเช่นกัน
4. ทำการล้างฉี่ให้เป็นอัตโนมัติ
โคนต้นไม้ควรมีสเปซให้สุนัข
ด้วยสุนัขหลายตัวยังมีลักษณะการฉี่เพื่อประกาศว่า “I WAS HERE” และเป็นการยากที่จะควบคุมห้ามทุกคนให้ดูแลได้อย่าง 100% ทางที่จะทำได้โดยอัตโนมัติเลย คือ ที่โคนต้นไม้หรือเสาต่างๆ เป็นไปได้ควรออกแบบให้สามารถล้างน้ำได้โดยง่าย เช่น ต้นไม้ก็ไม่ควรปูพื้นจนชิดโคนต้น ควรมีดินรอบๆ เพื่อให้สามารถล้างเองด้วยน้ำฝน หรือเดรนน้ำเมื่อรดน้ำราดล้างลงดินไปได้ง่าย
5. สุนัขชอบทับกลิ่น
ควรเลือกวัสดุที่ไม่อมกลิ่น
เช่นเดียวกันกับข้อข้างบน สุนัขบางตัวอาจอยู่ในช่วงการฝึกไม่ให้ฉี่เมื่อไปเที่ยวที่โรงแรม และอาจมีการพลาดได้ แม้พนักงานมาทำความสะอาดแล้วกลิ่นอาจยังอยู่ถ้าหากขาโต๊ะทำจากไม้ที่ดูดความชื้นได้ ทำให้สุนัขตัวต่อไปก็จะฉี่ที่จุดเดิมอีก ดังนั้น ห้องพักสำหรับสุนัขจึงควรเลือกใช้วัสดุที่ไม่อมกลิ่นเช่น โลหะ พลาสติก เซรามิก แทนการใช้ไม้เป็นวัสดุระดับที่อาจเลอะฉี่สุนัขได้
6. ออกแบบทุกอย่างที่เน้นเรื่อง
การทำความสะอาดง่าย
การเปิดให้สุนัขเข้าได้สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องยกระดับการรักษาความสะอาดสูงกว่าตอนที่รับแต่มนุษย์ ไม่ไม่ถึงขนาดต้องเพิ่ม manhour คนทำความสะอาดเพียงอย่างเดียว การออกแบบก็สามารถช่วยให้ทุกอย่างเป็นไปโดยอัตโนมัติได้ อาทิ เพิ่มสปริงเกอร์ไอหมอกให้ต้นไม้ริมทางเดินและตั้งเวลาเปิดทุก 2-3 ชั่วโมง ไม่เพียงแต่เพิ่มบรรยากาศสร้างความเย็น ยังสามารถช่วยล้างฉี่ที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือการเลือกพื้นที่สามารถล้างน้ำได้ทันที ก็ช่วยลดเวลาในการจัดการลงไปได้มาก
7. หลีกเลี่ยงพรม
เช่นเดียวกับข้อด้านบน ถ้าเป็น High Rise Hotel ควรหลีกเลี่ยงชั้นที่มีพรมปูพื้น และห้องพักหรือทุกจุดที่สุนัขเข้าได้ ไม่ควรใช้พรม เพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาดเมื่อเกิดความผิดพลาด
8. โรงแรมไม่ต้องแถมอาหารสุนัข
บ่อยครั้งที่แอดมินไปพัก Pet-Friendly Hotel 5 ดาว แล้วแถม Welcome Kits มาเป็นอาหารสุนัขด้วย ซึ่งสุนัขแต่ละตัวนั้นมี Health Condition แตกต่างกันมาก ดังนั้นอาหารที่แถมให้จะสิ้นเปลืองและอาจดูไม่เข้าใจสุนัข
9. ไม่ต้องทำที่นอนก็ได้ (เพราะอาจไม่นอน)
ใช่ว่ามีห้องนอนให้สุนัขแล้วสุนัขจะนอน บางตัวก็นอนที่อื่น ไม่จำเป็นต้องทำที่นอนให้น้องหมาโดยเฉพาะ โดยเฉพาะที่นอนที่ใช้ร่วมกันกับตัวอื่น ต้องแน่ใจมากๆ ว่าซักแล้วสะอาด 100% เพราะจมูกของสุนัขดีกว่าคนมาก ว่ากันตามตรงแม้จะห้ามสุนัขขึ้นที่นอนแต่คงยากจะพิสูจน์ ดังนั้น ถ้าคุณเป็นโรงแรม แยกชุดผ้าปูและจัดการระบบซักให้สะอาดเรียบร้อย แล้วอนุญาตให้นอนบนเตียงได้ไปเลยได้ใจมากกว่า
แต่ก็ยังควรจะมีกฏถ้าหากทำให้ผ้าปูที่นอนเปื้อนก็สามารถปรับได้ เพราะลูกค้าคนไทยหลากหลายจริงๆ
10. แต่ถ้าเป็นบ้านควรมีมุมหมา
เพราะสุนัขใช้เวลานอนเยอะกว่ามนุษย์ วัยปกติราว 12-14 ชั่วโมง เมื่อเป็นเด็กและวัยชราก็จะใช้เวลามากขึ้นไปอีก ดังนั้น ควรจะมีมุมที่สงบและสบาย ไม่ถูกใครรบกวน ให้สุนัขสามารถเข้าไปงีบหลับตอนกลางวันได้ด้วยตัวเอง อาจสัมพันธ์กับการใช้กรงก็ได้หากสุนัขนั้นฝึกนอนในกรงได้อย่างสบายใจแล้ว
11. จัดโต๊ะพิเศษที่อยู่ขอบร้าน
แม้ว่าร้านอาหารที่ให้สุนัขเข้าได้ก็ตาม เจ้าของที่ดีก็ยังรู้สึกเกรงใจที่จะให้สุนัขไปนั่งอยู่กลางร้าน เพราะอาจตกใจอะไรเห่าได้ ดังนั้น ถ้าหากมีมุมขอบร้านให้คนที่ไปกับสุนัขจะสบายตัวทั้งเจ้าของสุนัข และแขกท่านอื่นด้วย
12. ถ้า Outdoor-Only ก็ต้องมีดีเทล
ถ้าหากเข้าห้องแอร์ไม่ได้จริงๆ ก็เป็นไปได้เช่นกันที่ร้านอาหารจะจัดพื้นที่สำหรับสุนัขไว้แค่โซน Outdoor แต่ไม่ควรทำแบบอะไรก็ได้ ควรออกแบบให้สำหรับเด็กก็อยู่ได้ เช่น แดดไม่ส่องโต๊ะนั้น อากาศไม่ร้อน ลมถ่ายเทดี ไม่มียุงรบกวน จะช่วยให้ไม่เสียลูกค้ากลุ่มนี้ไป – แล้วถ้าคู่แข่งร้านใกล้ๆ ให้เข้าห้องแอร์ได้ แน่นอนว่าได้ใจมากกว่า
13. ที่จอด Family Car ควรมีหมารวมด้วย
ที่จอดรถศูนย์การค้าหรือสถานที่ต่างๆ ที่มี Family Car Area เพื่อจะได้ขนรถเข็นขึ้นลงได้ง่าย สมัยใหม่ควรมีสุนัขรวมอยู่ใน Category ของ Family Car ด้วย เพราะสุนัขก็ต้องใช้รถเข็นเช่นเดียวกัน ถ้าที่จอดแคบก็ค่อนข้างลำบากกับการเอารถเข็นลง
14. มุมล้างตัวก่อนเข้าห้องพัก
ถ้าหากเป็นรีสอร์ตที่อยู่ริมทะเล ริมน้ำ มีความเสี่ยงที่สุนัขจะเปียก การให้ตรงเข้าไปล้างตัวที่ห้องน้ำเลย นอกจากจะสร้างความสกปรกที่ต้องใช้เวลาทำความสะอาดเยอะแล้ว ยังอาจทำให้ท่อเดรนน้ำอุดตันไวอีกด้วย ส่วนที่ช่วยได้มาก คือการจัดโซนล้างตัวหรือ Shower ที่สุนัขใช้ด้วยได้ไว้ก่อนเข้าสู่โซนห้องพัก อำนวยความสะดวกอย่างดีด้วยการดีไซน์เพื่อให้จัดการล้างให้เรียบร้อย
15. แยกโซนสุนัขให้ห่างกับโซนเด็ก
แม้เด็กหลายคนก็รักสุนัข และสุนัขหลายตัวก็ชอบเด็ก แต่จะดีกว่าหากลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุลงได้ เพราะเด็กเป็นวัยที่ไม่นิ่ง เด้งไปเด้งมาตามประสา ทำให้สุนัขอาจตกใจแล้วส่งผลเป็นการเห่าหรือพุ่งเข้าไปหาเด็กได้ เป็นไปได้ควรพลัก 2 โซนนี้ให้ห่างไว้ก่อน
16. พื้นกันลื่น
เป็นสิ่งที่ต้นทุนสูงกว่าพื้นแกรนิโต้มาก แต่สำหรับบ้านที่ทำเป็น Pet-First จนเรียบร้อยสุดท้ายก็ต้องปูพื้นกันลื่นเต็มบริเวณอยู่ดี มีวัสดุหลายเกรด หลายระดับที่สามารถลดความลื่นในพื้นที่ Indoor ได้ มีตัวหนึ่งที่ iURBAN เคยรีวิว พื้นกันลื่นสุนัข HABiiMAT ไปแล้ว
17. บ้านควรเลือกพื้นระดับเท่ากัน
พื้นบ้านที่ระดับเท่ากันหมด ไม่เพียงแต่ได้ประโยชน์กับผู้สูงอายุ แต่ยังเป็นประโยชน์กับ “หุ่นยนต์ดูดฝุ่น” ทำงานได้ดีอีกด้วย ช่วยให้สามารถตั้งเวลาออกมาทำความสะอาดขนสุนัขและฝุ่นที่ติดมากับเท้าได้ทั่วถึง
18. หญ้าเทียมอย่าใส่ผ้าใบ
ปกติการปูหญ้าเทียมจะมีการปูผ้าใบพลาสติกรองใต้พื้นก่อน เพื่อป้องกันวัชพืชโตทะลุขึ้นมา แต่สำหรับบ้านมีสุนัขส่วนนี้อาจเป็นส่วนที่ทำให้ฉี่สุนัขไม่ซึมหายไปในดินอย่างที่ควร มันจะกลายเป็นที่เก็บฉี่ไว้และยากต่อการล้างในอนาคต ดังนั้น ถ้าหากต้องการปูหญ้าเทียม เอาผ้าใบออก
มีอีกหลายไอเดียที่สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ทั้งในบ้าน โรงแรม ร้านอาหาร หรือคาเฟ่ต่างๆ ที่ต้องการจะเปิดร้านตัวเองให้สุนัขเข้าได้ อยากได้คำแนะนำเรื่องของ Service Design และสถาปัตยกรรม การออกแบบภายใน สามารถสอบถามได้ที่ Petmap.co